๑. การเตรียมดิน
นวดดินเหนียว และผสมดินกับแกลบและมูลโคให้เข้ากัน
๒. การสร้างประติมากรรมต้นแบบ
นำดินเหนียวที่ได้มาผสมกับน้ำ แล้วนำมาปั้นเพื่อนำมาทำเป็นต้นแบบ (เช่น รูปทรงภาชนะที่เราต้องการ) จากนั้นใส่แท่งไม้เพื่อเป็นแกนกลางของต้นแบบเพื่อให้ง่ายต่อการจับถือ แล้วตากทิ้งไว้ให้แห้งสัก ๓ วัน
๓. การกลึงต้นแบบ
นำดินเหนียวที่แห้งแล้วมากลังให้ได้รูปทรงภาชนะที่ต้องการ
๔. การโอบด้วยขี้ผึ้ง นำแผ่นขี้ผึ้งมาโอบให้รอบต้นแบบ แล้วนำเชือกมาพันแท่งไม้ที่เป็นแกนกลางของต้นแบบ จากนั้นก็ดึงเชือกให้หมุนเพื่อเจียขี้ผึ้งที่โอบอยู่ภายนอกให้มีผิวเรียบและรูปทรงได้สมดุล
๕. การเขียนลาย
เขียนลายลงบนผิวขี้ผึ้งตามต้องการ (ลายพื้นเมืองดั้งเดิมจะเป็นรูปเรขาคณิต สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นวงวง)
๖. การทำช่องไว้เททองเหลือง
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำช่องให้สามารถเททองเหลืองลงไปในแม่พิมพ์ได้ โดยการนำขี้ผึ้งที่เป็นเส้นขนาดพอเหมาะมาต่อเข้ากับขี้ผึ้งที่เป็นต้นแบบ เมื่อเผาขี้ผึ้งส่วนนี้หายไปจะทำให้เกิดรูที่สามารถเททองเหลืองเข้าไปในแม่พิมพ์ได้
๗. การโอบแม่พิมพ์ชั้นใน
นำดินเหนียวละเอียดมาโอบทับขี้ผึ้งต้นแบบให้รอบ บางๆเหลือเพียงเส้นขี้ผึ้งที่จะทำช่องเททองเหลืองโผล่ออกมาเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาลวดลายเอาไว้
๘. การโอบแม่พิมพ์ชั้นนอก
นำดินเหนียวที่ผสมกับแกลบและมูลโคไว้แล้วมาโอบทับแม่พิมพ์ไว้อีกที เพื่อเป็นการักษารูปทรงของแม่พิมพ์เอาไว้ ทำไมไม่ใช้ดินเหนียวละเอียดโอบทับไปให้หมดเลย เพราะว่าเมื่อเผาเสร็จแล้วเปลือกชั้นนอกที่เป็นดินเหนียวผสมแกลบและมูลโคกระเทาะเอาชิ้นงานออกมาได้ง่าย แต่ถ้าเป็นดินเหนียวละเอียดจะไม่สามารถกระเทาะเอาชิ้นงานออกมาได้เมื่อเผาเสร็จ
๙. การเผาแม่พิมพ์ นำแม่พิมพ์ที่ทำเสร็จแล้วไปเผาไฟ โดยให้ส่วนที่เป็นเส้นขี้ผึ้งที่โผล่ออกมาคว่ำลง เมื่อนำไปเผาไฟจะทำให้ขี้ผึ้งทั้งหมดที่บรรจุอยู่ภายในหลอมละลายออกมาทางรูที่เตรียมเอาไว้จนหมด นี่เองที่เรียกว่าวิธี “lost wax" หรือ “สูญผึ้ง” ในภาษาอิสาน เมื่อขี้ผึ้งละลายออกมาหมด ก็จะทิ้งลวดลายไว้กับดินเหนียวภายใน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น