วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ตอนที่ ๔ ตลาดการค้าหินแกะสลักเลียนแบบโบราณวัตถุ


หินแกะสลักที่ทำเลียนแบบโบราณวัตถุนั้น มีหลายโรงงานที่ผลิตสินค้าดังกล่าว มีหลากหลายคุณภาพหลากหลายราคา จากประสบการณ์ของผม หินแกะสลักที่ถูกแกะแต่งเก่าในอำเภออรัญประเทศจะมีราคาถูกกว่าโรงงานที่ขายหินแกะสลักให้นักท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชา (แต่ถ้าเป็นชาวบ้านแกะเองแต่ไม่ได้แต่งเก่าที่ขายในประเทศกัมพูชาจะถูกที่สุด)
แต่ถ้าเปรียบเทียบราคาของโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่หลายโรงงานกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่นบนถนนเส้นสีคิ้ว-โคราช มีหลายโรงงานเรียงกันทั้งสองข้างทาง จ้างช่างแกะชาวเขมรมาแกะให้เหมือนกัน แต่ว่าราคาค่อนข้างแพงมาก ผมเคยสั่งไปลองสั่งแกะเทวรูปสูง ๑.๕๐ เมตร ผมได้สอบถามราคาจากหลายๆร้าน ราคาจะอยู่ประมาณ ๘๐,๐๐๐ – ๑๕๐,๐๐๐ บาท แต่ที่โรงงานอรัญประเทศจะอยู่ที่ ๔๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท
จากโรงงานสินค้าก็จะส่งไปขายในตลาดนัดจตุจักรตามร้านที่ผมระบุไว้ก่อนหน้านี้และร้านอื่นๆในจตุจักรโครงการ ๑ และร้านในจตุจักรพลาซ่า ส่วนที่มีคุณภาพดี (เขาเรียกว่า แต่งเก่าเกรด A) จะส่งไปขายที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตตี้

ภาพเทวรูปจากโรงงานอรัญประเทศ ที่อยู่ในร้านที่จตุจักรโครงการ ๑ ผู้ขายระบุว่าเป็นพระวิษณุ แท้จริงแล้วคือ พระวิรุณทรงหงส์ ศิลปขอมแบบแปรรูป


เน้นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ และทุกร้านจะบอกลูกค้าว่า เป็นของโบราณแท้จากเขมร ราคาที่ขายที่จตุจักรจะไม่แพงมากนัก ราคาจะอยู่ในหลักหมื่น ส่วนชิ้นที่สูง ๑.๕๐ เมตรขึ้นไปก็จะอยู่ที่ ๑แสนบาทต้นๆ ส่วนที่ส่งขึ้นไปขายที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตตี้ก็จะอยู่ที่หลักหลายแสนบาท หรือหลักล้านบาท

ตอนนี้ผมพบว่าที่จตุจักรมีเทวรูปขอมที่ทำเลียนแบบชิ้นที่มาจากโรงงานอีกทีหนึ่ง คือเอาชิ้นที่มาจากโรงงานไปทำบล็อกแล้วหล่อจากปูนผสมทราย (หินทรายเทียม โดยการหล่อ) หล่อได้รวดเร็วทีละหลายๆชิ้น แล้วนำไปทำสีแต่งเก่าด้วยกรรมวิธีเดียวกับโรงงานที่อรัญประเทศ ซึ่งต้นทุนจะถูกกว่าจ้างคนงานเขมรมาแกะเป็นเดือนๆมากๆ ดูไม่ออกว่าข้างในเป็นหินแกะธรรมชาติ หรือปูนหล่อ นอกจากจะกะเทาะเนื้อข้างในออกมาดู พวกนี้ผลิตถูกๆแต่เอามาขายราคาเดียวกับหินแกะสลักที่มากจากโรงงานอรัญประเทศ ถ้าคนที่ไม่รู้แล้วนำไปขายให้ลูกค้าโดยบอกลูกค้าว่าเป็นหินแกะสลัก ถ้าลูกค้ามาพบภายหลังว่าเป็นปูนหล่อ รับรองได้ว่าโดนลูกค้าด่าและเลิกซื้อสินค้าคุณแน่นอน

อีกหนึ่งตลาด คือ การขายใน eBay เจ้าหนึ่งที่ขายมานานและซื้อสินค้ามาจากจตุจักร ก็คือผู้ขายที่ใช้ชื่อว่า KaiZen Antiques หรือ Kaizentrade รายนี้ผมรู้จักดี เพราะซื้อร้านเดียวกับผมในจตุจักรโครงการ ๑ เป็นคนฝรั่งเศส แต่ซื้อไปขายใน eBay ที่สิงคโปร์ เขามาเลือกซื้อ ทุกๆ ๒ สัปดาห์ แล้วส่งลงเรือไปประเทศสิงคโปร์ แล้วพอขายได้ก็ส่งออกจากประเทศสิงคโปร์เลย ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตส่งออกโบราณวัตถุนอกราชอาณาจักรเหมือนเรา เขาจะบรรยายรายละเอียดของสินค้าว่าทุกชิ้นเป็นของโบราณแท้ และราคาก็แพงมาก ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ ๒,๐๐๐ – ๙,๐๐๐ ดอลลาร์ ส่วนเราคนไทยถ้าขายใน eBay จากประเทศไทยในราคาไม่แพง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่าสินค้าที่ขายจากเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นของเลียนแบบ (ของปลอม) ส่วนที่นำไปขายในต่างประเทศลูกค้าก็จะเข้าใจว่าเทวรูปที่นำไปขายในต่างประเทศเหล่านั้นเป็นของโบราณแท้ มีลูกค้าใน eBay บางรายถามผมมาว่าทำไมผมถึงขายราคาถูกจัง ผมก็ตอบไปว่าเป็นของเลียนแบบที่ทำจากโรงงาน แล้วเขาถามผมต่ออีกว่า สินค้าที่ KaiZen Antiques ขายนั้นเป็นของจริง ถามผมว่าผมพอจะหาแบบนั้นให้เขาได้ไหม ผมก็ตอบไปตรงๆว่าของที่ขายที่ Kaizen Antiques เป็นของปลอมที่มาจากโรงงานเดียวกับที่ผมซื้อมาขาย ลูกค้าได้ยินอย่างนั้นก็รับไม่ได้ ยืนยันว่าสินค้าที่ KaiZen Antiques ขายนั้นเป็นของแท้และเขาซื้อมาหลายชิ้นแล้ว และหาว่าผมโกหกเขา เป็นอย่างนั้นไปเสียอีก

รูปเศียรเทวรูปที่ Kaizen ระบุว่าเป็นเศียร พระวิษณุของแท้ ซื้อมา ๕,๐๐๐บาท ขายได้ 800$ แท้จริงแล้วคือ งานเลียนแบบ เหวัชระ ศิลปะขอมแบบบายน

จากภาพที่ถูกระบุไว้ว่า เป็น Very rare 17th Century SandStone Khmer head of Krishna / Vishnu. This exceptional item comes from an American private collection
Estimate Value: 3500 $ to 5000 $
Periode: From early 17th to Early 18th Century Post Angkorian Period
Origine: Battambang
Material: Sandstone
Dimensions: 25" X 7,7" (on stand) 21" without stand Weight 13,5 Kg
Remarks: A Splendid Large sandstone head from the post Angkorian period, in very good condition !
เป็นรายละเอียดสินค้าที่โกหกทั้งเพ เพราะผมเห็นแล้วว่าชิ้นนี้เขาซื้อมาจากร้านที่จตุจักรโครงการ ๑ และผมเห็นเศียรนี้ตั้งแต่ยังอัดสนิมกรดอยู่ที่โรงงานด้วยซ้ำ เกือบทุกชิ้นที่เขากำลังขายมาจากโรงงานในอรัญประเทศทั้งนั้น

อีกรายหนึ่ง เปิดเป็นเว็บไซต์ ชื่อร้าน Asiatic Bazaar Art เจ้าของเป็นคนกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา รายนี้จะมาเลือกสินค้าในจตุจักรอยู่เป็นประจำแต่จะไม่ซื้อ จะขอถ่ายรูปสินค้าจากร้านค้าต่างๆในจตุจักรเอาลงในเว็บไซต์ของตัวเองแทน โดยบอกว่าเป็นสินค้าเป็นของตนเองทั้งหมด และสินค้าของเขาเป็นของที่มาจากพิพิธภัณฑ์ ราคาที่ขายก็ไม่แพงมากนัก ข้อมูลของสินค้าและการระบุว่าเป็นศิลปะแบบใดนั้นยังมั่วเอาเช่นผู้ขายรายอื่นๆ
สรุปแล้ว ผู้ขายสินค้าเทวรูปศิลปะขอม ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเทวรูปเลียนแบบที่ตนเองกำลังขาย ทั้งๆที่แต่ละรายขายมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี กอบโกยเงินจากการขายเทวรูปเลียนแบบเหล่านี้มาแล้วนับหลายล้านบาท และเทวรูปที่ทำเลียนแบบจากโรงงานเหล่านี้จะถูกนำไปขายเป็นของแท้ทั้งสิน ผมเข้าใจว่าในการแข่งขันแล้วไม่มีผู้ค้ารายใดที่จะบอกความจริงกับลูกค้าของตนเองว่าสินค้าของตนนั้นเป็นของเลียนแบบ เพราะถ้าบอกกับลูกค้าไปว่าเป็นของเลียนแบบแล้ว ลูกค้าก็จะไม่ซื้ออีกและหันไปซื้อกันผู้ค้ารายอื่นๆที่อ้างว่าสินค้าของตนเองนั้นเป็นของแท้แทน

ไม่มีความคิดเห็น: