วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

การตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุว่าเป็นของแท้หรือของทำเลียนแบบ

การตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุว่าเป็นของแท้หรือของทำเลียนแบบ
สำหรับพระพุทธรูปและเทวรูปหินทราย

เราทราบแล้วว่าประติมากรรมทางศาสนาชิ้นแรกๆนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยหินทราย หลายชิ้นที่มีสัดส่วนที่สมบูรณ์เป็นดินเผาที่ฉาบด้วยปูนแล้วปิดทอง ประติมากรรมโบราณหลายชิ้นจะเป็นหินอ่อน เพราะมันเป็นสิ่งที่หาอยากแต่ความสวยงามของมันจะเสื่อมสลายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเจอกับสภาพอากาศเขตร้อนแบบบ้านเรา

จากส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนครลอสแองเจลิส ในหัวข้อเรื่อง ประติมากรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาการบ่งชี้ถึงความเก่าแก่ของโบราณวัตถุประติมากรรมหินทรายต่างๆนั้น แม้ว่าการวิจัยนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่กฎเกณฑ์ต่างๆทางด้านเทคนิคเพื่อกำหนดความเก่าแก่ของโบราณวัตถุนั้นได้เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจุดประสงค์ของการศึกษาถึงความเก่าแก่แท้ของโบราณวัตถุนี้เพื่อที่จะให้เราสามารถบ่งชี้ถึงคุณลักษณะ และกำหนดลักษณะทางกายภาพของโบราณวัตถุที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เพื่อที่จะสามารถบอกถึงอายุของประติมากรรมที่ถูกทดสอบแต่ละชิ้นนั้นถูกสร้างขึ้น


โดยที่โครงการวิจัยดังกล่าวนี้ ได้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิธีทางเทคนิคดังกล่าวนั้นทดสอบกับประติมากรรมขอมที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แล้วอย่างเช่น ในพิพิธภัณฑ์พนมเปญและที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติว่าด้วยศิลปะเอเชีย กีเม่ กรุงปารีส ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการทดสอบวัตถุโบราณนี้ได้พิสูจน์ในเห็นว่าโบราณวัตถุต่างๆนั้นเก่าแก่จริงๆ


ไม่มีการทดสอบใดที่สามารถบอกถึงวันเวลาที่สร้างประติมากรรมเหล่านั้นได้ แต่การศึกษาร่องรอยของเครื่องมือสามารถแบ่งแยกได้ว่าเป็นการใช้เครื่องมือสมัยใหม่หรือเครื่องมือโบราณในการแกะ อย่างไรก็ตามชนิดของเครื่องมือที่ใช้แกะของหินทรายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีการบันทึกไว้ วิธีดังกล่าวจึงใช้ไม่ได้ ดังนั้นร่องรอยต่างๆเกี่ยวกับของเก่าแก่แท้จริงนั้นต้องมาจากการเปลี่ยนแปลงภายในหินและบนพื้นผิวของหิน ประติมากรรมที่สร้างขึ้นเมื่อ ๘๐๐-๑๔๐๐ปีก่อนต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการกัดกร่อนโดยธรรมชาติมาอย่างยาวนาน และรวมถึงการฝังดินและขุดขึ้นมาบนพื้นดิน และอาจจะรวมถึงการใช้เพื่อตกแต่งหรือใช้เพื่อพิธีกรรมทางศาสนาด้วยเช่นกัน
การกัดกร่อนที่ทำปลอมและสะเก็ดผิวที่กะเทาะปลอมขึ้นมานั้นเพียงพอที่จะบ่งชี้ว่าชิ้นนั้นเป็นของปลอม

หินเป็นสิ่งที่แข็งแต่ไม่ยืดหยุ่น เพราะฉะนั้นเมื่อกระแทกแรงๆมันก็จะแตก ข้อแนะนำก็คือ - ไม่จำเป็นต้องทำให้โบราณวัตถุที่สวยงามต้องเสียหาย - และประติมากรรมชิ้นที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ควรจะถูกตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาว่ามันเป็นโบราณวัตถุจริงหรือไม่


การเปลี่ยนแปลงบางอย่างบนผิวของหินสามารถทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของการผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน แต่การดัดแปลงผิวหินด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะทำให้สรุปด้วยความมั่นใจว่าเป็นการสร้างขึ้นเมื่อหลายร้อยหลายพันปีที่แล้ว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การบ่งชี้ลักษณะทางเทคนิคเป็นสิ่ง(มั่นคง)ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปกับการระบุวันเวลาของการสร้างซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการรับรอบความเก่าแก่ของวัตถุ ดังนั้นบทสรุปอยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่าสิ่งที่ทำเทียมขึ้นมาใหม่นั้นไม่แสดงพื้นผิวที่ถูกกัดกร่อน แต่เราสามารถทำให้โบราณวัตถุปลอมให้เกิดร่องรอยพื้นผิวที่ดูเก่าแก่ได้ ดังนั้นการดูแค่พื้นผิวที่สึกกร่อนไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโบราณวัตถุแท้


พื้นผิวของหินถูกทดสอบผ่านการส่องด้วยกล้องสเตริโอไมโครสโคป แม้ว่าวัตถุทุกชิ้นที่ตรวจพิสูจน์จะเป็นหินทราย แต่ลักษณะทางกายภาพต่างๆของหินนั้นหลากหลาย องค์ประกอบหลักของหินทรายทุกๆชิ้นนั้นเป็นแร่ควอร์ทซ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในอนุภาค ซึ่งขนาด, รูปร่าง และสีของส่วนประกอบแร่ควอร์ทซนั้นแตกต่างกัน และยังมีแร่อื่นๆประปนอยู่อีก เช่น เฟลดสปาร์, ไพไรท์, ไมก้า และแร่อื่นๆ หินทรายบางชนิดก็ค่อนข้างแข็ง เพราะประกอบด้วยแร่ควอร์ทซฝังอยู่มากในก่อนหิน ขณะที่เนื้อหินทรายชนิดอื่นๆค่อนข้างอ่อนลงเรื่อย เพราะส่วนประกอบแต่ละอย่างอาจจะเปราะลงเรื่อยๆ และการยึดเกาะกันของอนุภาคก็จะเสื่อมลง

ลักษณะซึ่งบ่งชี้ในการศึกษาของเก่าแก่แท้จริงนั้นอาศัยลักษณะของสารเคมีในภูมิอากาศโดยธรรมชาติ หรือ การจับรวมตัวกันของส่วนประกอบต่างๆทั้งหมด


๑. สารเคมีที่อยู่ในภูมิอากาศเป็นสาเหตุเกิดการกัดกร่อนในชั้นของพื้นผิวของหิน และชั้นนี้อาจจะอยู่ลึกลงไปน้อยกว่าหนึ่งมิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร มันจะพรุนมากขึ้นและผิวหินอ่อนลง และอาจจะแสดงเป็นสีที่แตกต่างกันในชั้นของภูมิอากาศ ภูมิอากาศจะส่งผลต่อแร่ที่เป็นส่วนประกอบต่างๆที่พื้นผิวหรือใกล้กับพื้นผิวที่ยาวนานกว่าแร่ซึ่งอยู่ลึกภายในหิน แร่บางชนิดจะทนต่อการกัดกร่อนขณะที่แร่อื่นๆอาจจะสลายตัวไป การสึกกร่อนเฉพาะที่นี้เมื่อมองด้วยกล้องไมโครสโคปจะสังเกตพบส่วนประกอบทางเคมีของส่วนประกอบอนุภาคแร่เพียงบางส่วนหรือทั้งหมด หรือแร่ที่เกาะอยู่โดยรอบพื้นผิว อย่างที่คาดไว้ หินทรายที่มีผิวมันวาวจะมีการสึกกร่อนน้อยมาก แต่ถึงแม้จะสึกกร่อนแล้ว ลักษณะที่มันวาวดังเดิมของพื้นผิวหินนั้นอาจจะช่วยรักษาการต้านการสึกกร่อน


๒. การรวมตัวกันของส่วนประกอบต่างๆบนพื้นผิวหินนั้นทำให้เราเห็นถึงประวัติศาสตร์ของประติมากรรมนั้นและสภาวะแวดล้อมของมัน ส่วนประกอบที่พบโดยทั่วไปบนประติมากรรมขอมนั้นรวมถึง สีที่ทา, ดิน, รากพืช และ เชื้อราหรือตะไคร่น้ำ (เรียกว่า ร่องรอยของจุลชีพ) มีประติมากรรมหลายชิ้นที่ถูกทาสีไว้แต่สีนั้นก็ไม่ได้คงทนอยู่บนประติมากรรมขอม อย่างไรก็ตามบางประติมากรรมบางชิ้นก็ยังหลงเหลือร่องรอยของสีทีถูกทา รวมถึงผิวของหินก่อนที่จะถูกทาสี ส่วนดินที่ติดอยู่บนประติมากรรมนั้นไม่สามารถนำมาพิจารณาถึงอายุหรือว่าเป็นโบราณวัตถุแท้หรือไม่ ยกเว้นว่ามันมีวัตถุพยานที่ผ่านกระบวนการของธรรมชาติมาอย่างยาวนาน ยกตัวอย่างเช่นมีรากของพืช มันแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของมันบนพื้นดินหรือใต้ดิน แต่มันก็ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่จะบอกว่าเป็นโบราณวัตถุแท้ อย่างไรก็ตามรากของพืชนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ฝังติดแน่นอยู่บนพื้นผิว เมื่อรากพืชย่อยสลายไปมันก็จะทิ้งร่องรอย การปรากฏร่องรอยของรากพืชหรือการเปลี่ยนแปลงของรากพืชนี้สามารถบอกได้ว่าผ่านกระบวนการมาอย่างยาวนานและใช้สนับสนุนได้ว่าเป็นโบราณวัตถุแท้

การอธิบายรายละเอียดของจุลชีพที่ทับถมกัน และผลกระทบของเชื้อเห็ดราและตะไคร่น้ำที่เกาะบนพื้นผิวของหินนั้นไม่ได้อยู่ในบทความนี้ หัวข้อของการศึกษานี้เน้นเกี่ยวกับการสึกกร่อนของหิน สิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจเกี่ยวกับการทิ้งร่องรอยของการทับถมกันไว้บนพื้นผิวหินของพวกเชื้อเห็ดรา, และตะไคร่น้ำ ซึ่งการทับถมกันแบบนี้สามารถทำให้เข้าใจได้ว่าไม่ได้ทำขึ้นมาใหม่ แต่ต้องผ่านกระบวนการมาอย่างช้าๆและยาวนาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรากฏจุดสีดำๆบนพื้นผิว แม้ว่าเราจะไม่ทราบองค์ประกอบที่แน่นอนแต่เราทราบว่ามันเป็นผลที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆเหล่านั้น มันประกอบไปด้วยแมงกานีสออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจุดสีดำจากแมงกานีสออกไซด์เป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญที่มาก



เราสามารถแยกประติมากรรมหินของแท้และของปลอมออกจากกันได้โดยการวิเคราะห์ความเก่าแก่และการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวของหิน การวิเคราะห์ด้วยกล้องสเปคโตรสโคปเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ใช้ เพราะมันทำให้เห็นความเก่าแก่ของเนื้อหินและซากราและสิ่งมีชีวิตเล็กๆได้อย่างชัดเจน แตกต่างจากของปลอมที่ทำจากกาว, ปูนซีเมนต์และปูนขาว สำหรับผู้เชี่ยวชาญแล้ว กล้องจุลทรรศน์ที่ดีจะช่วยให้ตรวจหาของปลอมโดยดูจากลักษณะที่บอกอายุบนพื้นผิวของหิน


โบราณวัตถุขอมที่ทำปลอมขึ้นมาใหม่หลายชิ้นสามารถระบุได้โดยใช้กล้องขยาย Stereomicroscope เพื่อตรวจสอบวิธีที่ทำปลอมขึ้นมา การใช้ดิน การปรากฏของการยึดแกะของสิ่งต่างๆที่ประกอบกันขึ้นมา เช่นการใช้น้ำมันหรือเรซิ่นในการเลียนแบบการตกสีบนพื้นผิวหิน, และการสึกกร่อน อย่างไรก็ตามมีประติมากรรมหลายชิ้นที่ไม่สามารถสรุปได้แน่นอนด้วยกล้องขยาย Stereomicroscope ซึ่งต้องอาจต้องใช้วิธีอื่นๆเช่น Petrographic เพื่อทดสอบแร่หิน หรือการอธิบายคุณสมบัติเฉพาะของหินทรายในการพิสูจน์โบราณวัตถุแท้

ความซับซ้อนในการศึกษาโบราณวัตถุแท้ผ่านกล้องจุลทรรศน์อาจจะทำให้เห็นถึงการทำความสะอาดหรือการซ่อมแซมโบราณวัตถุนั้น เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพบางอย่างบนพื้นผิวและสามารถเห็นถึงการทับถมกันการเสื่อมสลายไปบนพื้นผิวหิน หรือแม้แต่ชั้นของหิน ในบางกรณีถ้าหากมีรูปภาพของโบราณวัตถุก่อนทำความสะอาดจะช่วยได้มากในการกำหนดขอบเขตที่ต้องการจากการทำความสะอาด

เนื่องจากค่าขนส่งสำหรับหินที่มีน้ำหนักมากๆนั้นที่แพงมาก จึงทำให้ผู้ค้าโบราณวัตถุจะขายหัวของประติมากรรมก่อน และจากนั้นจึงจะขายประติมากรรมส่วนลำตัวที่ไม่มีหัวในภายหลัง ซึ่งเราจะพบเห็นได้บ่อยๆในวัดต่างๆ โดยเฉพาะประติมากรรมขอมเป็นที่นิยมของชาวตะวันตก เพราะลวดลายที่เรียบและลายเส้นที่ทำให้มันดูดีเมื่อนำไปตกแต่งบ้าน จึงทำให้มันเป็นที่ต้องการมากซึ่งนำไปสู่การผลิตประติมากรรมเลียนแบบที่ไม่มีหัวและไม่มีแขนขาออกมาเป็นจำนวนมากๆ



จากภาพเก่านี้จะพบว่าประติมากรรมขอมที่ถูกพบเหล่านี้มีสภาพเดิมอย่างที่เห็น และจะเห็นว่าขณะนี้ผู้ผลิตของปลอมได้ผลิตออกมาในลักษณะใด (สังเกตเส้นแดง)



ประติมากรรมที่ยังคงมีหัว, แขนขา และเท้าครบสมบูรณ์นั้นต้องใช้ทักษะสูงในการแกะลวดลายเหล่านั้น แต่ประติมากรรมขอมของปลอมนั้นจะถูกผลิตแบบไม่มีแขนไม่มีขาออกมาเดือนหนึ่งเป็นร้อยๆชิ้นโดยช่างแกะที่ไม่ได้มีทักษะสูง อายุหินไม่สามารถบอกได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ผิวของหินแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางวิทยาศาสตร์ที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากได้ผ่านภูมิอากาศหรือฝังในดินมาเป็นเวลานาน พอที่จะพิจารณากำหนดอายุได้บนพื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ด้วยเช่นกัน
หนังสืออ้างอิง
Bunker, Emma C. & Latchford, Douglas . Adoration and Glory - The Golden Age of Khmer Art. Chicago (USA): Art Media Resources, 2004.
Groslier, George. La sculpture khmère ancienne / Illus. de 175 reproductions horstexte en similigravure. Paris (France): G. Crès, 1925.
Matthaes, Gottfried. The Art Collector’s Handbook: How to tell authentic antiques from fakes, Vol. 3 Excavated Art, Asian and African Art. Milano (Italy): Museo del Collezionista d’Arte, 2002.



วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การหล่อทองเหลืองพื้นเมือง โดยวิธี Lost Wax Process

กรรมวิธีการหล่อทองเหลือพื้นเมือง โดยวิธี lost wax casting process ซึ่งเป็นกรรมวิธีโบราณดั้งเดิมเหมือนกับที่ บ้านเชียง จังหวัดขอนแก่น ( ยุคหินใหม่ Neolithic) กรรมวิธีการหล่อทองเหลืองพื้นเมืองนี้ได้ทำสืบต่อกันมามากกว่า ๔๕๐๐ ปี มรดกทางวัฒนธรรมนี้ควรจะได้รับการอนุรักษ์และสืบต่อให้ชนรุ่นหลังต่อไป
๑. การเตรียมดิน
นวดดินเหนียว และผสมดินกับแกลบและมูลโคให้เข้ากัน
๒. การสร้างประติมากรรมต้นแบบ
นำดินเหนียวที่ได้มาผสมกับน้ำ แล้วนำมาปั้นเพื่อนำมาทำเป็นต้นแบบ (เช่น รูปทรงภาชนะที่เราต้องการ) จากนั้นใส่แท่งไม้เพื่อเป็นแกนกลางของต้นแบบเพื่อให้ง่ายต่อการจับถือ แล้วตากทิ้งไว้ให้แห้งสัก ๓ วัน
๓. การกลึงต้นแบบ
นำดินเหนียวที่แห้งแล้วมากลังให้ได้รูปทรงภาชนะที่ต้องการ
๔. การโอบด้วยขี้ผึ้ง นำแผ่นขี้ผึ้งมาโอบให้รอบต้นแบบ แล้วนำเชือกมาพันแท่งไม้ที่เป็นแกนกลางของต้นแบบ จากนั้นก็ดึงเชือกให้หมุนเพื่อเจียขี้ผึ้งที่โอบอยู่ภายนอกให้มีผิวเรียบและรูปทรงได้สมดุล
๕. การเขียนลาย
เขียนลายลงบนผิวขี้ผึ้งตามต้องการ (ลายพื้นเมืองดั้งเดิมจะเป็นรูปเรขาคณิต สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นวงวง)
๖. การทำช่องไว้เททองเหลือง
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำช่องให้สามารถเททองเหลืองลงไปในแม่พิมพ์ได้ โดยการนำขี้ผึ้งที่เป็นเส้นขนาดพอเหมาะมาต่อเข้ากับขี้ผึ้งที่เป็นต้นแบบ เมื่อเผาขี้ผึ้งส่วนนี้หายไปจะทำให้เกิดรูที่สามารถเททองเหลืองเข้าไปในแม่พิมพ์ได้
๗. การโอบแม่พิมพ์ชั้นใน
นำดินเหนียวละเอียดมาโอบทับขี้ผึ้งต้นแบบให้รอบ บางๆเหลือเพียงเส้นขี้ผึ้งที่จะทำช่องเททองเหลืองโผล่ออกมาเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาลวดลายเอาไว้
๘. การโอบแม่พิมพ์ชั้นนอก
นำดินเหนียวที่ผสมกับแกลบและมูลโคไว้แล้วมาโอบทับแม่พิมพ์ไว้อีกที เพื่อเป็นการักษารูปทรงของแม่พิมพ์เอาไว้ ทำไมไม่ใช้ดินเหนียวละเอียดโอบทับไปให้หมดเลย เพราะว่าเมื่อเผาเสร็จแล้วเปลือกชั้นนอกที่เป็นดินเหนียวผสมแกลบและมูลโคกระเทาะเอาชิ้นงานออกมาได้ง่าย แต่ถ้าเป็นดินเหนียวละเอียดจะไม่สามารถกระเทาะเอาชิ้นงานออกมาได้เมื่อเผาเสร็จ


๙. การเผาแม่พิมพ์ นำแม่พิมพ์ที่ทำเสร็จแล้วไปเผาไฟ โดยให้ส่วนที่เป็นเส้นขี้ผึ้งที่โผล่ออกมาคว่ำลง เมื่อนำไปเผาไฟจะทำให้ขี้ผึ้งทั้งหมดที่บรรจุอยู่ภายในหลอมละลายออกมาทางรูที่เตรียมเอาไว้จนหมด นี่เองที่เรียกว่าวิธี “lost wax" หรือ “สูญผึ้ง” ในภาษาอิสาน เมื่อขี้ผึ้งละลายออกมาหมด ก็จะทิ้งลวดลายไว้กับดินเหนียวภายใน

๑๐. การเททองเหลือง
ยกแม่พิมพ์ที่กำลังร้อนอยู่ออกมากจากเตา แล้วรีบเททองเหลืองเข้าไปภายในแม่พิมพ์ทันที

๑๑. กระเทาะแม่พิมพ์
หลังจากที่เททองเหลืองเข้าไปแล้ว ปล่อยไว้ให้เย็น แล้วกระเทาะแม่พิมพ์เบาๆให้แตก เพื่อจะให้ได้ภาชนะทองเหลืองที่บรรจุอยู่ภายใน

๑๒. การขัดและทำความสะอาด
ขั้นตอนสุดท้ายคือ ขัดทำความสะอาดชิ้นงานด้วยกระดาษทรายละเอียด เพื่อให้แวววาว เก็บรายละเอียด ตัดแต่งส่วนที่เกินออกมา

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ตอนที่ ๔ ตลาดการค้าหินแกะสลักเลียนแบบโบราณวัตถุ


หินแกะสลักที่ทำเลียนแบบโบราณวัตถุนั้น มีหลายโรงงานที่ผลิตสินค้าดังกล่าว มีหลากหลายคุณภาพหลากหลายราคา จากประสบการณ์ของผม หินแกะสลักที่ถูกแกะแต่งเก่าในอำเภออรัญประเทศจะมีราคาถูกกว่าโรงงานที่ขายหินแกะสลักให้นักท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชา (แต่ถ้าเป็นชาวบ้านแกะเองแต่ไม่ได้แต่งเก่าที่ขายในประเทศกัมพูชาจะถูกที่สุด)
แต่ถ้าเปรียบเทียบราคาของโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่หลายโรงงานกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่นบนถนนเส้นสีคิ้ว-โคราช มีหลายโรงงานเรียงกันทั้งสองข้างทาง จ้างช่างแกะชาวเขมรมาแกะให้เหมือนกัน แต่ว่าราคาค่อนข้างแพงมาก ผมเคยสั่งไปลองสั่งแกะเทวรูปสูง ๑.๕๐ เมตร ผมได้สอบถามราคาจากหลายๆร้าน ราคาจะอยู่ประมาณ ๘๐,๐๐๐ – ๑๕๐,๐๐๐ บาท แต่ที่โรงงานอรัญประเทศจะอยู่ที่ ๔๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท
จากโรงงานสินค้าก็จะส่งไปขายในตลาดนัดจตุจักรตามร้านที่ผมระบุไว้ก่อนหน้านี้และร้านอื่นๆในจตุจักรโครงการ ๑ และร้านในจตุจักรพลาซ่า ส่วนที่มีคุณภาพดี (เขาเรียกว่า แต่งเก่าเกรด A) จะส่งไปขายที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตตี้

ภาพเทวรูปจากโรงงานอรัญประเทศ ที่อยู่ในร้านที่จตุจักรโครงการ ๑ ผู้ขายระบุว่าเป็นพระวิษณุ แท้จริงแล้วคือ พระวิรุณทรงหงส์ ศิลปขอมแบบแปรรูป


เน้นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ และทุกร้านจะบอกลูกค้าว่า เป็นของโบราณแท้จากเขมร ราคาที่ขายที่จตุจักรจะไม่แพงมากนัก ราคาจะอยู่ในหลักหมื่น ส่วนชิ้นที่สูง ๑.๕๐ เมตรขึ้นไปก็จะอยู่ที่ ๑แสนบาทต้นๆ ส่วนที่ส่งขึ้นไปขายที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตตี้ก็จะอยู่ที่หลักหลายแสนบาท หรือหลักล้านบาท

ตอนนี้ผมพบว่าที่จตุจักรมีเทวรูปขอมที่ทำเลียนแบบชิ้นที่มาจากโรงงานอีกทีหนึ่ง คือเอาชิ้นที่มาจากโรงงานไปทำบล็อกแล้วหล่อจากปูนผสมทราย (หินทรายเทียม โดยการหล่อ) หล่อได้รวดเร็วทีละหลายๆชิ้น แล้วนำไปทำสีแต่งเก่าด้วยกรรมวิธีเดียวกับโรงงานที่อรัญประเทศ ซึ่งต้นทุนจะถูกกว่าจ้างคนงานเขมรมาแกะเป็นเดือนๆมากๆ ดูไม่ออกว่าข้างในเป็นหินแกะธรรมชาติ หรือปูนหล่อ นอกจากจะกะเทาะเนื้อข้างในออกมาดู พวกนี้ผลิตถูกๆแต่เอามาขายราคาเดียวกับหินแกะสลักที่มากจากโรงงานอรัญประเทศ ถ้าคนที่ไม่รู้แล้วนำไปขายให้ลูกค้าโดยบอกลูกค้าว่าเป็นหินแกะสลัก ถ้าลูกค้ามาพบภายหลังว่าเป็นปูนหล่อ รับรองได้ว่าโดนลูกค้าด่าและเลิกซื้อสินค้าคุณแน่นอน

อีกหนึ่งตลาด คือ การขายใน eBay เจ้าหนึ่งที่ขายมานานและซื้อสินค้ามาจากจตุจักร ก็คือผู้ขายที่ใช้ชื่อว่า KaiZen Antiques หรือ Kaizentrade รายนี้ผมรู้จักดี เพราะซื้อร้านเดียวกับผมในจตุจักรโครงการ ๑ เป็นคนฝรั่งเศส แต่ซื้อไปขายใน eBay ที่สิงคโปร์ เขามาเลือกซื้อ ทุกๆ ๒ สัปดาห์ แล้วส่งลงเรือไปประเทศสิงคโปร์ แล้วพอขายได้ก็ส่งออกจากประเทศสิงคโปร์เลย ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตส่งออกโบราณวัตถุนอกราชอาณาจักรเหมือนเรา เขาจะบรรยายรายละเอียดของสินค้าว่าทุกชิ้นเป็นของโบราณแท้ และราคาก็แพงมาก ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ ๒,๐๐๐ – ๙,๐๐๐ ดอลลาร์ ส่วนเราคนไทยถ้าขายใน eBay จากประเทศไทยในราคาไม่แพง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่าสินค้าที่ขายจากเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นของเลียนแบบ (ของปลอม) ส่วนที่นำไปขายในต่างประเทศลูกค้าก็จะเข้าใจว่าเทวรูปที่นำไปขายในต่างประเทศเหล่านั้นเป็นของโบราณแท้ มีลูกค้าใน eBay บางรายถามผมมาว่าทำไมผมถึงขายราคาถูกจัง ผมก็ตอบไปว่าเป็นของเลียนแบบที่ทำจากโรงงาน แล้วเขาถามผมต่ออีกว่า สินค้าที่ KaiZen Antiques ขายนั้นเป็นของจริง ถามผมว่าผมพอจะหาแบบนั้นให้เขาได้ไหม ผมก็ตอบไปตรงๆว่าของที่ขายที่ Kaizen Antiques เป็นของปลอมที่มาจากโรงงานเดียวกับที่ผมซื้อมาขาย ลูกค้าได้ยินอย่างนั้นก็รับไม่ได้ ยืนยันว่าสินค้าที่ KaiZen Antiques ขายนั้นเป็นของแท้และเขาซื้อมาหลายชิ้นแล้ว และหาว่าผมโกหกเขา เป็นอย่างนั้นไปเสียอีก

รูปเศียรเทวรูปที่ Kaizen ระบุว่าเป็นเศียร พระวิษณุของแท้ ซื้อมา ๕,๐๐๐บาท ขายได้ 800$ แท้จริงแล้วคือ งานเลียนแบบ เหวัชระ ศิลปะขอมแบบบายน

จากภาพที่ถูกระบุไว้ว่า เป็น Very rare 17th Century SandStone Khmer head of Krishna / Vishnu. This exceptional item comes from an American private collection
Estimate Value: 3500 $ to 5000 $
Periode: From early 17th to Early 18th Century Post Angkorian Period
Origine: Battambang
Material: Sandstone
Dimensions: 25" X 7,7" (on stand) 21" without stand Weight 13,5 Kg
Remarks: A Splendid Large sandstone head from the post Angkorian period, in very good condition !
เป็นรายละเอียดสินค้าที่โกหกทั้งเพ เพราะผมเห็นแล้วว่าชิ้นนี้เขาซื้อมาจากร้านที่จตุจักรโครงการ ๑ และผมเห็นเศียรนี้ตั้งแต่ยังอัดสนิมกรดอยู่ที่โรงงานด้วยซ้ำ เกือบทุกชิ้นที่เขากำลังขายมาจากโรงงานในอรัญประเทศทั้งนั้น

อีกรายหนึ่ง เปิดเป็นเว็บไซต์ ชื่อร้าน Asiatic Bazaar Art เจ้าของเป็นคนกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา รายนี้จะมาเลือกสินค้าในจตุจักรอยู่เป็นประจำแต่จะไม่ซื้อ จะขอถ่ายรูปสินค้าจากร้านค้าต่างๆในจตุจักรเอาลงในเว็บไซต์ของตัวเองแทน โดยบอกว่าเป็นสินค้าเป็นของตนเองทั้งหมด และสินค้าของเขาเป็นของที่มาจากพิพิธภัณฑ์ ราคาที่ขายก็ไม่แพงมากนัก ข้อมูลของสินค้าและการระบุว่าเป็นศิลปะแบบใดนั้นยังมั่วเอาเช่นผู้ขายรายอื่นๆ
สรุปแล้ว ผู้ขายสินค้าเทวรูปศิลปะขอม ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเทวรูปเลียนแบบที่ตนเองกำลังขาย ทั้งๆที่แต่ละรายขายมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี กอบโกยเงินจากการขายเทวรูปเลียนแบบเหล่านี้มาแล้วนับหลายล้านบาท และเทวรูปที่ทำเลียนแบบจากโรงงานเหล่านี้จะถูกนำไปขายเป็นของแท้ทั้งสิน ผมเข้าใจว่าในการแข่งขันแล้วไม่มีผู้ค้ารายใดที่จะบอกความจริงกับลูกค้าของตนเองว่าสินค้าของตนนั้นเป็นของเลียนแบบ เพราะถ้าบอกกับลูกค้าไปว่าเป็นของเลียนแบบแล้ว ลูกค้าก็จะไม่ซื้ออีกและหันไปซื้อกันผู้ค้ารายอื่นๆที่อ้างว่าสินค้าของตนเองนั้นเป็นของแท้แทน

ตอนที่ ๓ เทวรูปหิน-โบราณแท้ มีหรือไม่ ?

หลังจากที่ผมเป็นลูกค้าของโรงงานแกะสลักหินในอำเภออรัญประเทศอยู่พักใหญ่ ได้มีโอกาสพูดคุยสนิทสนมกับเจ้าของโรงงานต่างๆ รวมทั้งคนงานชาวเขมรที่พอพูดภาษาไทยได้ ก็พบว่าของโบราณแท้มี แต่หายากและราคาค่อนข้างสูงมาก
ที่ผมพบก็คือ มีโรงงานแกะสลักแห่งหนึ่งเป็นที่พักและซ่อมแซมของโบราณแท้ โรงงานนี้จะอยู่ใกล้กับวัดใหม่ไทรน้อย ในอำเภออรัญประเทศ โรงงานจะเข้าไปในซอยลึกจนถึงที่ซึ่งมีต้นไม้ปกคลุมหนาทึบและรอบๆบริเวณนั้นเป็นทุ่งนา เขาจะเอาของแท้ที่ถูกขนมาจากกัมพูชาไปซ่อนไว้ในแนวต้นไม้นั้น ที่ผมเห็นมีทั้งชิ้นส่วนปราสาท กรอบเสาประตูปราสาท, กลับขนุนประดับหลังคาปราสาท, ศิวะลึงค์, ฐานโยนี,ทับหลัง และชิ้นส่วนเทวรูปที่แตกหัก บางชิ้นก็ถูกฝังซ่อนเอาไว้ในพื้นดิน ชิ้นไหนที่แตกหักไม่สมบูรณ์ก็จะถูกซ่อมแซมและเอาหินใหม่ใส่เข้าไปแทนชิ้นส่วนที่หายไป แล้วตกแต่งทำสีให้เหมือนของเดิมทุกประการและไม่ให้เห็นรอยต่อ จากนั้นก็จะขนเข้าไปขายให้ร้านที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตตี้เป็นหลัก เจ้าของโรงงานนี้เล่าให้ฟังว่าการที่จะเอาของโบราณแท้ไปขายให้ร้านที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตตี้นี้จะต้องรู้จักเจ้าของร้านเป็นอย่างดีเขาจึงจะรับซื้อ
ผมเห็นทับหลังโบราณแท้แผ่นหนึ่ง สภาพลายเลือนแต่แกะลึกและมีไลเคนขึ้นกระจายอยู่ทั่วแผ่น ผมจึงลองสอบถามราคาดู เขาบอกว่า ราคา ๑๐๐,๐๐๐ บาท (ราคาแพงมากๆ) ถ้าเขาขายให้ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตตี้ราคาก็จะเป็น ๑๕๐,๐๐๐ บาท และร้านที่ริเวอร์ซิตตี้ก็จะขายให้กับลูกค้าที่ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท

นอกจากหินสลักโบราณแท้ๆแล้ว เจ้าของโรงงานยังโชว์โบราณวัตถุพวกที่ทำจากโลหะสัมฤทธิ์ พวกกำไร ขันโลหะ ชิ้นส่วนคันฉ่อง และชิ้นส่วนภาชนะขอมโบราณให้ผมดู และโชว์ให้ดูว่าเขามีเครื่องโลหะใต้พื้นดิน (ยี่ฮ้อ Garrette) และบอกต่อว่าเขาจะตระเวนขุดหาโบราณวัตถุตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา หลายครั้งจะได้พวกแหวนทองคำประดับด้วยอัญมณี หรือได้พวกสร้อยคอทองคำโบราณ แล้วนำไปขายให้กับร้านค้าในศูนย์การค้าริเวอร์ซิตตี้ แต่ผมไม่ได้ถามราคาเพราะว่าขนาดหินยังขายกันเป็นแสนๆ ถ้าเป็นเครื่องประดับทองคำโบราณแล้วล่ะก็ไม่ต้องพูดถึงราคาสำหรับผม เขายังเคยเล่าให้ฟังว่าเคยขุดได้เทวรูปอรรธนารีศวรสัมฤทธิ์ขนาดสูงประมาณหนึ่งศอก เขาขายให้ร้านค้าที่ริเวอร์ซิตตี้ในราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ร้านค้านั้นเอาไปขายให้พิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษราคา ๓๐ล้านบาท

การที่ผมได้อธิบายถึงราคาดังกล่าวขั้นต้นนั้น ไม่ได้มุ่งหมายให้ใครหวังรวยไปขุดทองดังกล่าว แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงมูลค่าที่ซื้อขายและเส้นทางการค้าโบราณวัตถุและการส่งโบราณวัตถุออกนอกประเทศ การลักลอบขุดค้นโบราณวัตถุมีโทษจำคุกไม่เิกน ๗ ปี ...

ตอนที่ ๒ เทวรูปขอม - แต่งเก่าทำสนิม

หลังจากที่พบโรงงานแกะเทวรูปหลายโรงงานในอำเภออรัญประเทศแล้ว ผมได้เลือกซื้อจากโรงงานต่างๆโดยตรง ผมเดินทางไปที่โรงงานเหล่านั้นบ่อยๆ ทำให้ได้มีโอกาสเห็นขั้นตอนการทำให้เทวรูปหินแกะสลักเหล่านั้นเก่าเหมือนของจริง

เริ่มจากเมื่อคนงานเขมรแกะเทวรูปแต่ละแบบเสร็จจะถูกทำไปขัดน้ำเพื่อทำความสะอาดผิวเก็บรายละเอียดและลบรอยสิ่วและรอยเลื่อยจางๆออกจากผิวของเทวรูป จากนั้นจะถูกนำไปพ่นทราย (ยิงทราย) คือการใช้ปั้มลมต่อเข้ากันหัวพ่นทราย พ่นให้ทั่วองค์ของเทวรูป เพื่อที่จะทำให้ผิวขรุขระและลบรอยเลื่อยตัดหินที่ยังหลงเหลือบนผิว

การทำให้ผิวเทวรูปขรุขระที่ผมได้เห็นขั้นตอนและได้รวบรวมไว้มีหลายวิธี
วิธีแรกที่ผมกล่าวไปคือใช้เครื่องพ่นทราย ทำให้ลายที่แกะเลือนและขรุขระ เหมือนกันว่าผ่านกาลเวลามายาวนาน ถูกลมถูกฝนชะล้างจนสึกกร่อน ส่วนวิธีที่สองคือการนำเทวรูปที่เพิ่งแกะเสร็จไปจุ่มลงในกรดกัดหิน (กรดไฮโดรคลอริก?) ตรงนี้ต้องใช้เวลานานกว่าวิธีแรก คนงานเขมรอธิบายให้ฟังว่าต้องแช่ไว้ในกรดเป็นอาทิตย์ แล้วผิวนอกของหินแกะสลักจะค่อยๆยุ่ยออกมา บางทีก็เอาปูนขาวพอกเทวรูปแล้วนำไปจุ่มลงในกรดเพราะเร่งปฏิกิริยาของกรด ซึ่งวิธีนี้ใช้บอกได้ว่าเทวรูปองค์ไหนเป็นของปลอมทำเลียนแบบ เพราะเมื่อเอาไปตั้งขายในร้านก็จะเห็นเป็นเนื้อสีขาวจากปูนขาว หรือคราบสีขาวจากกรดเกลือแทรกอยู่ในเนื้อของหิน



ผิวที่เกิดจากการใช้ปูนขาวพอกแล้วใช้กรดกัดผิว ทำให้ทิ้งคราบสีขาวไว้

แต่วิธีใช้กรดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเพราะไอกรดจะเข้าไปทำลายปอดและอวัยวะภายในของเราได้ ส่วนวิธีสุดท้ายก็คือการเอาเม็ดทรายมาทุบลงบนผิวของเทวรูปหินเลย วิธีนี้จะทำให้ผิวของเทวรูปขรุขระเป็นรูของเม็ดทรายที่นำมาทุบ แต่ใช้เวลานานกว่าจะทุบบนผิวจนทั่วทั้งองค์เทวรูป

หลังจากที่ทำให้ผิวเทวรูปขรุขระแล้ว จะนำเอาเทวรูปต่างๆไปทำสีสนิม โดยที่นำเอาเศษเหล็กเศษสังกะสีสนิมไปแช่ในกรด จะทำให้ได้น้ำกรดที่เป็นสีน้ำตาลสนิม เขาจะเอาน้ำกรดสนิมไปราดเทวรูปอยู่หลายวันจนสนิมซึมเข้าไปในผิวของหิน จากสีหินทรายสีชมพูจากหินธรรมชาติก็จะเป็นสีน้ำตาลสนิม โดยที่สีน้ำตาลสนิมจะซึมลึกเข้าไปแทรกอยู่ในเนื้อของหิน
จากนั้นก็นำไปเผาบนเตาพร้อมๆกัน โดยที่เตาจะมีลักษณะเป็นตระแกรงใหญ่ๆแล้วสุมฟืนเข้าข้างล่าง การเผาเพื่อให้ได้สีสนิมติดทน และสีของหินดูเก่า และมีเขม่าติด หินทรายเมื่อถูกไฟเผาสีของหินก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม

บางทีถ้าไม่มีเวลาพอ ผมก็เห็นเขาเอาน้ำกรดสนิมราดแล้วเอาหัวแก๊สพ่นไฟเผา แล้วก็ราดแล้วก็เผาไปเรื่อยๆจนกว่าจะทั่วทั้งองค์ ก็จะทำให้ได้เทวรูปสีน้ำตาลเจือสีดำ สีก็จะไม่จางหาย ติดทนแม้จะถูกแดดถูกฝนเป็นเดือนๆ

หลังจากทำสนิมเสร็จแล้ว ก็จะเอาเทวรูปที่เป็นองค์สมบูรณ์ เอามาทุบให้แตกบิ่น หรือแตกเป็นชิ้นๆแล้วเอามาต่อกลับเหมือนเดิม ให้ดูว่าเก่าโบราณเหมือนของจริงว่าแตกหักจากการพังทลายหรือจากสงคราม แล้วเอามาประกอบต่อกันเข้าเหมือนเดิม การต่อก็จะเจาะใส่แกนเหล็กไว้ข้างในแล้วต่อเข้าด้วยกาวอีพอกซี่ที่ใช้ต่อหิน

เทวรูปที่ถูกทุบให้แตกหัก แล้วนำกลับมาต่อประกอบเข้าเหมือนเดิมเพื่อให้เหมือนของโบราณแท้

ถ้าอยากได้จุดเหมือนเชื้อราบนผิวหิน ก็จะใช้แปรงสีฟันจุ่มลงในหมึกจีน แล้วดีดเป็นฝอยเล็กลงบนผิวหินจนทั่ว และถ้าอยากได้ผิวหินสีเทาก็จะเอาแลกเกอร์พ่นให้ทั่ว แล้วนำดินจอมปลวกที่เผาไฟแล้วทุบเป็นผงคุลกให้ทั่วทั้งองค์ขณะที่แลกเกอร์ยังไม่แห้ง ก็จะทำให้ฝุ่นดินจอมปลวกสีเท่าติดทั่วเทวรูป จากนั้นก็แต่งสีผิวด้วยการดีดหมึกจีนให้ทั่วอีกครั้งหนึ่ง

ที่โรงงานนี้ยังมีวิธีการนำเอาเทวรูปที่ทำแตก ต่อประกอบ และทำสีเสร็จแล้วนำไปฝังในโคลนหรือพื้นที่ชื้นแฉะ แล้วปักป้ายสังกะสีกำกับไว้ว่าฝังไว้วันที่เท่าไหร่ หลังจากผ่านไปหลายเดือน หรืออาจจะเป็นปีก็ขุดขึ้นมาขาย จะทำให้ได้กลิ่นดินบนเทวรูปและมีรากไม้รากหญ้าติดบนผิวของเทวรูป บางชิ้นก็มีรากหญ้าชอนไชเข้าไปในรอยแตกของชิ้นที่ต่อเอาไว้ ทำให้เหมือนของจริงมากๆ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อผมจะนำเทวรูปเหล่านี้ไปต่างประเทศ ผมต้องไปขอใบอนุญาตนำศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักร จากกรมศิลปากรเสียก่อน ผมนำเทวรูปจากโรงงานนี้ไปขอใบอนุญาตฯ ปกติแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ ๑-๒ คนมาตรวจพิสูจน์ว่าเป็นโบราณวัตถุของจริงหรือไม่ เพื่อที่ออกใบอนุญาตให้ แต่เทวรูปชิ้นนั้นเจ้าหน้าที่สลับกันมาดูคนแล้วคนเล่าก็ดูไม่ออกว่าเป็นของจริงหรือของเลียนแบบ ซึ่งผมพยายามอธิบายให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นฟังว่าสีและผิวที่เห็นนั้นเกิดจากขั้นตอนอะไรบ้าง แต่ดูแล้วไม่มีใครเชื่อผม เจ้าหน้าที่ผลัดกันมาตรวจพิสูจน์ได้ประมาณ ๘ คน ก็สรุปว่า เทวรูปนี้น่าจะเป็นของโบราณแท้ จึงไม่อนุญาตให้นำออกนอกประเทศและแนะนำให้ผมเก็บเอาไว้บูชา



ตอนที่ ๑ เริ่มต้น-ค้นหา

ผมเริ่มความสนใจในเทวรูปขอมตั้งแต่ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ แล้วทุกครั้งที่มีโอกาสกลับมาเมืองไทย ชอบไปเดินดูสินค้าที่สวนจตุจักร ผมพบร้านขายหินแกะสลักแบบเขมรร้านหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ จตุจักรโครงการ ๒๒ ชื่อร้าน อยุธยาอาร์ต เทวรูปส่วนใหญ่เป็น เทวรูปที่ไม่มีเศียร, ไม่มีแขน, และไม่มีเท้า (torso)
ก่อนหน้านั้นผมยังไม่มีความรู้เรื่องศิลปะขอมเลยแม้แต่นิดเดียว เห็นเทวรูปแต่ละชิ้นถึงจะมีแต่ส่วนลำตัวแต่จะมีลายผ้านุ่งแตกต่างกันดูสวยดี ผมเลยถามเจ้าของร้านถึงลายละเอียดของผ้านุ่งแต่ละลาย เขาได้อธิบายให้ฟังว่า ผ้านุ่งของศิลปะขอมแต่ละสมัยจะมีลายที่แตกต่างกัน พร้อมกันยกเอากระดาษซึ่งมีลายผ้านุ่งที่แตกต่างกันแต่ละแบบเรียงรายกันและเขียนกำกับว่าเป็นแบบไหน พร้อมเอารูปถ่ายมาให้ดูว่าเขามีโรงงานแกะเอง แต่เขาไม่ยอมบอกว่าโรงงานอยู่ที่ไหน (บนกระดาษที่เขาเอาลายผ้านุ่งให้ดู เขียนว่า “ตลาดเจ้าพรหม” ผมจึงเดาว่าโรงงานน่าจะอยู่ที่อยุธยา) ผมจึงลองซื้อสัก 2-3 ชิ้นกลับไปต่างประเทศ


หลังจากที่กลับไปถึงที่ต่างประเทศ ผมเลยลองเอาไปลงขายใน eBay ดู ปรากฏว่าจากที่ซื้อมาแค่ชิ้นละ ๑,๐๐๐ บาท แต่ขายได้ใน eBay ชิ้นละ ๙๙ Euro (ประมาณ ๕,๐๐๐ บาท) บางชิ้นก็ได้ถึง ๒๐๐ Euro (ประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท) พบว่าได้กำไรดีมาก การที่จะไปลงขายใน eBay ผมต้องค้นหาข้อมูลตามที่คนขายให้มาว่าผ้านุ่งแต่ละแบบบอกถึงสมัยที่แตกต่างกัน ทำให้ผมได้ทราบว่าผ้านุ่งของเทวรูปแต่ละแบบบอกถึงว่าเทวรูปแต่ละยุคแต่ละสมัยมีลายผ้านุ่งที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน ตรงนี้ทำให้มีความรู้เพิ่มมากขึ้นว่า ศิลปะการแต่งกายแบบนี้ เป็นศิลปะแบบไหน อยู่ในสมัยไหน ตามลำดับ ทำให้ผมมีข้อมูลที่จะไปบอกกับลูกค้าใน eBay ได้ว่าเทวรูปที่กำลังขายนี้ เป็นศิลปะแบบไหน ในสมัยไหน

ผมได้พบว่ามีฝรั่งหลายคนซื้อเทวรูปจากจตุจักรไปขายบน eBay เช่นกัน ซึ่งทุกคนจะบอกว่าเทวรูปของตัวเองนั้น ไม่มีคอ ไม่มีแขน ไม่มีเท้า เพราะถูกระเบิดจากการสู้รบสมัยเขมรแดง และทุกคนจะบอกว่าเทวรูปของตัวนั้นเป็นเทวรูปของจริง “Rare Museum Quality” มั่งล่ะ ซื้อมาตั้งแต่ ๒๕ ปีก่อนสมัยเดินทางไปท่องเที่ยวในเขมรมั่งล่ะ โกหกทั้งเพ เพราะเทวรูปที่เขากำลังขายอยู่นั่นเป็นเทวรูปแบบเดียวกับที่ผมซื้อมาจาก อยุธยาอาร์ต 1000% ทั้งแบบของเทวรูป, สีของหินและผิวของหิน เพราะหลังจากที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะขอมเพิ่มมากขึ้นก็จะเข้าใจ ว่าเทวรูปที่ร้านอยุธยาอาร์ตแกะนั้น ทั้งลายเส้นและรูปทรงไม่เหมือนกับศิลปะขอมจริงๆเลย ที่เป็นเศียรก็จะมีหน้าตาไม่ถูกต้องเมื่อเทียบกับศิลปะขอมแท้ๆ ซึ่งเทวรูปที่เขาอ้างว่าเป็นของแท้นั้น ขายได้ใน eBay ถึง ๘๐๐ – ๑,๐๐๐ US-Dollar และเขาขายได้เป็นหลายร้อยชิ้นก่อนที่ผมจะเอามาขายใน eBay เสียอีก



รูปนี้ จาก eBay ของผู้ขายที่ใช้ชื่อว่า adamsbryce เป็นเทวรูปที่มาจาก ร้านอยุธยาอาร์ต ราคาเพียง ๑,๐๐๐ บาท แต่ว่า ผ้านุ่งของศิลปะขอมแต่ละสมัยจะมีลายที่แตกต่างกัน พร้อมกขายได้ ๘๓๔ ดอลลาร์

หลังจากที่มีโอกาสกลับมาเมืองไทยอีก ผมลองหาร้านขายหินแกะสลักแบบขอมที่มีคุณภาพกว่าของร้านอยุธยาอาร์ต พบร้าน ๓-๕ ร้านอยู่ติดๆกันในจตุจักรโครงการ ๑ หลังจากที่ได้คุยกับเจ้าของร้านก็พบว่าร้านที่ติดๆกันนั้นเป็นของญาติพี่น้องกันทั้งหมด เทวรูปของร้านนี้จะเป็นเทวรูปเต็มองค์บ้าง เป็น torso บ้าง เป็นเศียรบ้าง เป็นทับหลัง เป็นชิ้นส่วนปราสาทบ้าง ซึ่งผมพบว่าสินค้าเลียนแบบเหล่านี้มีคุณภาพมาก ทั้งรูปแบบของศิลปะขอม หน้าตาของเทวรูป สีของหิน และผิวของหินที่ผุกร่อน เหมือนของจริงมากๆ แต่แน่นอนล่ะครับ คุณภาพดีก็ต้องมีราคาสูง เมื่อเทียบราคากับร้านอยุธยาอาร์ต torso ราคา ๑,๐๐๐ บาท แต่ร้านที่โครงการ ๑ นี้จะราคา ๖,๐๐๐ บาทในขนาดที่เท่าๆกัน ผมเลยลองซื้อกลับไปขายในต่างประเทศดู ก็พบว่า จากที่ซื้อมา ๖,๐๐๐ บาท ขายได้ ประมาณชิ้นละ ๓๐๐ – ๖๐๐ Euro (ประมาณ ๑๕,๐๐๐ – ๓๐,๐๐๐ บาท) และได้คำชมจากลูกค้าว่าเทวรูปหินนี้สวยและมีคุณภาพดี หลังจากนั้นผมจึงได้สั่งซื้อจากร้านนี้ประจำ

หลังจากที่ขายได้สักพักหนึ่ง ทำให้สงสัยว่าเทวรูปเหล่านี้ทำมาจากที่ไหน ผมจึงถามเจ้าของร้านว่าเอาเทวรูปพวกนี้มาจากไหน ซึ่งเจ้าของร้านต่างๆก็ไม่ยอมบอกผม แต่ ร้านสิริพรแอนติก บอกผมว่าเทวรูปพวกนี้เป็นของแท้ เอามาจากเขมร ซื้อมาจากชายแดนอรัญประเทศ จะมีคนเขมรจะเข็นรถเข็นที่บรรทุกเทวรูปพวกนี้เข้ามาที่ชายแดน แล้วให้เรายืนเลือกชี้เอาเลยว่าจะเอาชิ้นไหน

ผมจึงลองเช่ารถขับไปด่านอรัญประเทศ ไปยืนรอดูที่ชายแดนว่ารถเข็นคันไหนจะเอาเทวรูปมาให้เลือกซื้อบ้าง รอทั้งวันก็ไม่มีอย่างที่เจ้าของร้านสิริพรแอนติกที่จตุจักรบอกไว้เลย ผมเลยตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ ขากลับแวะจอดพักที่ร้านอาหารตาสั่งร้านหนึ่ง เลยลองถามเขาดูว่ามีที่ไหนขายหินแกะสลักบ้างไหม โชคดีมากที่คนขายบอกว่ารู้จักร้านหนึ่งแล้วบอกทางให้ พอไปถึงก็พบว่าเป็นโรงงานใหญ่มาก มีเทวรูปหินแกะสลักที่ผมกำลังตามหาตั้งอยู่เต็มหลังโรงงาน ทางไปโรงงานค่อนข้างหายากเพราะโรงงานจะซ่อนอยู่ท่ามกลางต้นไม้ที่รกทึบ มีกระท่อมอยู่ติดๆกันหลายหลัง แบ่งเป็นแผนกๆ คนงานก็หน้าตาตื่นๆ ผมคิดว่าถ้าผมเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคนงานเขมรต้องวิ่งหนีป่าราบแน่นอน หลังจากที่เดินดูอยู่สักพักใหญ่ เจ้าของโรงงานก็ลงมาคุยกับผม ผมจึงอธิบายให้ฟังว่าผมต้องการจะซื้อเทวรูปหินของเขาไปขายในต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ผมซื้อจากร้านที่จตุจักร เขาจึงคุยให้ฟังว่าเทวรูปจากโรงงานเขาก็ส่งขายที่จตุจักร ร้านนั้นร้านนี้ ซึ่งรายชื่อเจ้าของร้านที่จตุจักรที่เขาเอ่ยมาทั้งหมดผมก็รู้จักดี แต่เขาย้ำว่าอย่าไปบอกเจ้าของร้านที่จตุจักรเป็นอันขาดว่าผมมาซื้อที่โรงงานนี้เช่นกัน เพราะเขาไม่อยากให้ลูกค้าเขาขัดกัน และร้านที่จตุจักรก็ต้องการจะผูกขาดกับโรงงานไม่ให้ขายให้คนอื่น


จากนั้นมา ผมจึงหันมาซื้อตรงจากโรงงาน แทนที่จะไปซื้อที่ร้านจตุจักรโครงการ ๑เหมือนก่อน ผมเลือกที่ซื้อที่โรงงานก่อนแล้วหลังจากนั้นผมพบว่าชิ้นที่เหลือจากที่ผมเลือกแล้วไปตั้งขายอยู่ที่ร้านที่จตุจักรจริงๆ

เท่าที่ผมค้นหาดูก็พบว่าในอำเภออรัญประเทศมีโรงงานแกะสลักหินแต่งเก่าเลียนแบบศิลปะขอมอยู่หลายเจ้าทีเดียว แต่ละเจ้าก็มีวิธีเก่าที่คล้ายคลึงกัน มี ๒-๓ โรงงานที่อยู่ในตัวอำเภออรัญประเทศเลย อยู่ซอยลึกเข้าไปจากถนนใหญ่
และมีอีก ๔-๕ โรงงานที่กระจายอยู่ตามแหล่งหินที่อยู่ติดชายแดน ไทย-กัมพูชา ในเขตอำเภออรัญประเทศ
และโรงงานแกะสลักหินในลักษณะนี้จะกระจายอยู่ในประเทศกัมพูชา ระหว่างสองข้างทางทางจากด่านอรัญประเทศไปสู่นครวัด แต่ผมได้เทียบราคาดูแล้ว พบว่าโรงงานแกะสลักใหญ่ๆที่อยู่สองข้างทางไปนครวัด จะขายราคาแพงให้กับนักท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่นการแกะแผ่นทับหลังหรือแผ่นลายนางอัปสราจะขายในราคาประมาณ ๖๐,๐๐๐ – ๗๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป และถ้าจะให้เอามาส่งที่ชายแดนไทยก็จะคิดค่าส่งอีกแล้วแต่ขนาดของหินแกะสลัก แต่ถ้าเป็นโรงงานในอำเภออรัญประเทศจะขายในราคาเพียง ๒๐,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น